MCap/TVL ใช้ในการประเมินมูลค่าเหรียญคริปโตได้จริงหรือ?

ในการประเมินมูลค่าของหุ้น คำที่เรามักจะได้ยินอยู่บ่อยๆ ที่นักลงทุนหุ้นมูลค่าพูดถึง นั่นก็คือค่า PE เช่น ค่า PE เท่านี้ต้องใช้ระยะเวลาคืนทุนกี่ปี ยิ่งค่า PE น้อยๆ ถือว่าเป็นหุ้นที่ดี เป็นตัวบ่งบอกคร่าว ๆ ได้ว่า หุ้นตัวนั้นๆ มีราคาที่แพงไปแล้วหรือยังเมื่อเทียบกับกำไรต่อหุ้นของหุ้นตัวนั้นๆ อะไรประมาณนี้ แต่ในตลาด
คริปโตนั้น เราจะประเมินมูลค่าได้อย่างไร กูรูหลายคนแนะนำว่าให้นำมูลค่าของสินทรัพย์ตามราคาตลาด มาหารด้วยปริมาณสินทรัพย์ที่เข้าไปลงทุน เพื่อหาอัตราส่วนร่วมกัน  แล้วจริงๆ มันสามารถเอามาวัดผลได้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นด้วย



เข้าใจความหมาย 

Market Cap หรือตัวย่อ Mcap คือ มูลค่าของสินทรัพย์ตามราคาตลาด โดยที่ (ราคา x ปริมาณ) ก็จะได้เป็น Market Cap  และมันใช้ดูขนาดของเหรียญได้ด้วยว่าเหรียญไหนมีขนาดใหญหรือเล็ก เครื่องมือที่ใช้ดู Market Cap ที่นิยมๆ กันก็จะมี coinmarketcap.com และ coingecko.com เป็นต้น

Total Value Locked หรือตัวย่อ TVL  คือ ปริมาณสินทรัพย์ที่เข้ามาลงทุนใน Platform Smart Contract นั้นๆ ยิ่งมีค่ามากก็ยิ่งแปลว่า Platform นั้นๆได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุนมาก

การหาอัตราส่วน

การนำมูลค่าตามราคาตลาดมาหารด้วยสินทรัพย์ที่ลงทุน หรือ MCap/TVL Ratio คือ เราจะได้อัตราส่วนที่ชี้วัดถึง ขนาดของเหรียญนั้น ๆ เปรียบเทียบกับปริมาณที่เข้ามาใช้ง่านจริง ๆ ใน Platform   สำหรับ MCap/TVL ก็มีการใช้งานในรูปแบบนั้นเลยแหละครับ ดังนั้นดูเผินๆคร่าวๆคือ หาก MCap/TVL ต่ำๆ ก็มักจะดูดีครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราดูเฉยๆแบบนั้นจะค่อนข้างหยาบเกินไป สิ่งที่เราจำเป็นต้องใช้การสังเกตคือ การเพิ่มขึ้น/ลดลงของ MCap/TVL นั้นมันมาจากอะไรกันแน่ ยกตัวอย่างเช่น


เปรียบเทียบเหรียญ Solana (SOL) กับ Fantom (FTM) 

ลองเอา 2 เหรียญมาเทียบกัน เลือก Sol กับ FTM เนื่องจากว่ามี TVL ใกล้เคียงกันประมาณ 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่หากดูค่า MCap/TVL นั่นแตกต่างกันมาก คือ Sol  มีค่า 5.3 หรือแพงกว่า FTM ที่ถูกกว่ามีค่าแค่เพียง 0.5 แต่เมื่อเรากลับไปดูมูลค่าราคาตามตลาด หรือ Market Cap แล้วจะเห็นได้ว่า ขนาดของ Sol นั้นมี Market Cap ที่ใหญ่กว่าของ FTM มาก แบบนี้ FTM มีโอกาสเติบโตได้อีกไกลใช่หรือไม่ แต่ๆ ๆ เรามาดูปัจจัยอื่นว่า หากปริมาณเปลี่ยนแปลงจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ยกตัวอย่าง เช่น

กรณีอัตราส่วน MCap/TVL มีค่าสูงขึ้น อาจเกิดมาจาก MCap ที่สูงขึ้น ในขณะที่ TVL คงที่ ตรงนี้ให้ความหมายว่า มีการเข้ามาเก็งกำไรในราคาเหรียญนั้นๆสูงขึ้น ทั้งๆ ที่คนมาใช้งานจริงๆใน Platform นั้นๆ ยังเท่าเดิม เรียกได้ว่าพื้นฐานไม่ได้มีอะไรดีขึ้น มีแต่การเก็งกำไรในระยะสั้นเท่านั้นที่มาดัน MCap/TVL สูงขึ้น

กรณีอัตราส่วน MCap/TVL มีค่าสูงขึ้น อาจเกิดมาจาก TVL ที่ลดลง ในขณะที่ MCap คงที่ อันนี้ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะกลายเป็นว่าราคาปรับตัวลงช้าเกินจริงเมื่อเทียบกับค่า TVL ที่ลดลง ส่งผลให้ MCap/TVL ดูเหมือนจะไม่ได้สะท้อนสิ่งที่ควรเกิดขึ้นจริง ณ เวลานั้น ดังนั้นราคามีโอกาสที่จะปรับตัวลงตามในระยะสั้นสูง

กรณีอัตราส่วน MCap/TVL มีค่าลดลง มาจาก TVL ที่สูงขึ้น ในขณะที่ MCap คงที่ อันนี้คือสิ่งที่นักลงทุนบอกว่าดีเลยก็ว่าได้ เพราะถ้าหากเราเล็งเห็นขึ้นมา แปลว่าเรามีโอกาสทำกำไรได้มากกว่านักลงทุนคนอื่นโดยทั่วไป เพราะการใช้ดูจะมีเงินไหลเข้ามาสูงขึ้นใน Platform นั้นๆ เนื่องจาก TVL สูงขึ้น แต่ราคากลับยังไม่มีการปรับตัว ส่งผลให้เป็นโอกาสและจังหวะที่ดีในการเข้าซื้อ

กรณีอัตราส่วน MCap/TVL มีค่าลดลง มาจาก MCap ที่ลดลง ในขณะที่ TVL คงที่  โอกาสแบบนี้เกิดขึ้นน้อยมาก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาส เพราะโดยปกติแล้วหากราคาเหรียญกำลังลงจะมีนักลงทุนบางส่วนที่จะถอนเหรียญออกจาก Platform นั้นๆ ออกมาขายทำกำไรก่อน จนส่งผลให้ TVL นั้นมีค่าลดลงตามไปด้วย 

ดังนั้น นักลงทุนควรศึกษาอัตราส่วน MCap/TVL ให้ดีเสียก่อน อัตราส่วนที่มากกว่า 1 บ่งชี้ว่าการประเมินมูลค่าอาจสูงเกินไปและความสามารถในการลงทุนต่ำ ในขณะที่อัตราส่วนที่น้อยกว่า 1 บ่งชี้ว่าโครงการมีการประเมินราคาต่ำเกินไปและผลตอบแทนจะพร้อมสำหรับการเพิ่มขึ้น 

จากที่กล่าวไปเป็นเพียงการตั้งสมมติฐานเบื้องต้นสำหรับการเทียบให้ดูถึงความหมายในการเปลี่ยนแปลงของ MCap/TVL เพียงเท่านั้น จึงจำเป็นต้องมีการคงค่าคงที่ไว้ค่าหนึ่ง เพื่อทำให้การอธิบายความหมายทำได้ง่ายขึ้นครับ แต่ในความเป็นจริง ทั้งค่า Market Cap และ TVL จะมีการขยับและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นสิ่งที่เราจำเป็นต้องดูก็คือ การเปลี่ยนแปลงจากฝั่งไหนจะเป็นฝั่งที่มากกว่านั่นเอง จากนั้นค่อยใช้สมมติฐานข้างต้นมาแปลความหมายต่อไป


ข้อมูลจาก: https://defillama.com/chains

0xNapakkraj

ฉันชอบบิทคอยน์และสกุลเงินคริปโต facebook twitter

แสดงความคิดเห็น (0)
ใหม่กว่า เก่ากว่า